ประวัติ ของ จินตนา ภักดีชายแดน

จินตนา ปิ่นเฉลียว เป็นบุตรีคนสุดท้องของ นายวิวัธน์และนางพวง ปิ่นเฉลียว มีพี่สาวคนโตชื่อมาลัย ส่วนพี่ชายมีสองคนคือ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และ วาทิน ปิ่นเฉลียว (ผู้ให้กำเนิดนิตยสารต่วยตูน)

จินตนาเกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2485 ที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่กรรมในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นการจากไปอย่างรวดเร็วด้วยวัยเพียง 46 ปี และเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการนิยายสยองขวัญ เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็เรียกได้ว่ายังไม่มีนักเขียนหญิงคนใดสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งราชินีนิยายสยองขวัญผู้นี้ได้อีกเลยแม้แต่คนเดียว

ด้านการศึกษา จินตนาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2506 และจบการศึกษาปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรในปีการศึกษา 2517

ด้านงานเขียน จินตนาเริ่มเขียนกลอนตั้งแต่อายุราว 10 ปี และส่งผลงานไปยังนิตยสารเด็กสม่ำเสมอ กระทั่งช่วงที่อยู่มัธยมฯ 3 ผลงานก็ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์และดรุณสาร ทั้งยังเคยได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดบทสักวาในนิตยสารชัยพฤกษ์ ส่วนงานร้อยแก้วนั้น จินตนาเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องสั้นลงพิมพ์ในเสรีคอลัมน์สำหรับเด็กของหนังสือพิมพ์สารเสรี และเคยได้รับรางวัลโบว์สีฟ้าจากการประกวดเรื่องสั้นในโครงการของนิตยสารสยามสมัย

นอกจากงานด้านร้อยแก้วแล้ว จินตนายังถนัดเขียนบทกลอนและมีผลงานแพร่หลายตามนิตยสารอยู่เสมอ โดย พ.ศ. 2505 ได้ชนะการประกวดชุมนุมกลอนชาวบ้านทางโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ซึ่งสมัยนั้นจินตนากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาที่เตรียมอุดมศึกษา, พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2515 ได้รับรางวัลจากมูลนิธิจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ สองปีซ้อนจากผลงานเรื่อง นิราศพระอาราม และเรื่อง อยุธยาวสาน, พ.ศ. 2523 ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือประเภทกวีนิพนธ์จากผลงานเรื่อง เพลงมนุษย์ จากนั้นในปีถัดมาก็ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในรายการเดียวกันจากผลงานเรื่อง ศรีจุฬาลักษณ์

สำหรับนามปากกา จินตวีร์ วิวัธน์ ได้เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่าสิบปีที่ใช้นามปากกานี้ ได้ทำให้ผลงานของจินตนาเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านอย่างกว้างขวางจนบรรดานิตยสารชั้นนำต่าง ๆ ต้องการตัวและดึงมาร่วมงาน ไม่ว่าเครือบางกอก-ทานตะวัน หรือสกุลไทย-หญิงไทย ยังผลให้ไม่มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานในด้านบทกวี อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังเป็นช่วงเดียวกับที่พี่น้องปิ่นเฉลียวเริ่มจัดทำนิตยสารรายเดือนต่วยตูนพิเศษ จึงมอบให้จินตนาเป็นบรรณาธิการเพื่อนำเสนอเรื่องราวลึกลับอิงไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลงในนิตยสารอีกด้วย ซึ่งจินตนาก็ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งตับ หลังจากที่ วินัย ภักดีชายแดน ผู้เป็นสามีสิ้นชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุได้เพียงสองปีกว่าเท่านั้น ถือเป็นการปิดฉากราชินีสยองขวัญแห่งเมืองไทย

นอกจากนี้ จินตนายังเคยให้สัมภาษณ์ว่าการที่มาเขียนเรื่องลึกลับนั้นก็เพราะพี่ชายคือ วาทิน ปิ่นเฉลียว เป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้มากและมักจะแอบซ่อนหนังสือเอาไว้เป็นอย่างดีเพราะกลัวน้องจะหยิบมาอ่านเข้า เนื่องจากวาทินรู้ดีว่าน้องสาวของตนเป็นคนกลัวผีมาก แต่ที่สุดแล้วจินตนาก็พยายามแอบขโมยมาอ่านทุกเรื่องจนได้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นข้อดีของนักเขียนที่เฉพาะเจาะจงเขียนเรื่องแนวเร้นลับและผีสาง เพราะสิ่งนั้นทำให้จินตนาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาในบทบรรยายได้ใกล้เคียงกับความรู้สึกกลัวของตัวเอง

ใกล้เคียง

จินตนา สุขสถิตย์ จินตนา ภักดีชายแดน จินตนาการ จินตนาการรัก ลิขิตชีวิต จินตนาการไม่รู้จบ จินตนาการทางเพศ จินตนิมิต จินตา บุณยอาคม จิตตนาถ ลิ้มทองกุล จินตามณีมนเทียร (เถอูร์)